โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง วิธีสังเกตอาการ และการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง

โรคใกล้ตัวคนเรามีอยู่ด้วยกันหลายโรค บางโรคหลายคนอาจจะคาดคิดไม่ถึงว่ามันสามารถทำร้ายร่างกายเราได้ถึงแก่ชีวิต อย่างเช่นโรคที่เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกันในวันนี้ นั่นก็คือ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงนั่นเอง

เนื่องจากทางด้านกรมการแพทย์ได้ชี้ถึง "โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเอแอลเอส" โดยจะมีอาการเตือนถึงกล้ามเนื้อที่มีลักษณะเกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรงและลีบเล็กลงไปเรื่อยๆ พูดจาลำบาก กลืนลำบาก มีอาการหายใจติดขัดและหอบเหนื่อยอันเนื่องจากการหายใจที่ไม่เพียงพอ หากผู้ป่วยพบสัญญาณเตือนที่ผิดปกติดังกล่าว ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยรักษาโดยเร็วที่สุด 

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ฐานะโฆษกกรมการแพทย์ ได้ให้การเปิดเผยว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือ ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis) จัดว่าเป็นโรคที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มของโรคเสื่อมจากเซลล์ควบคุมกล้ามเนื้อ โดยเกิดขึ้นได้ทั้งในส่วนสมองและไขสันหลัง ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรงและมีกล้ามเนื้อที่ลีบเล็กลงไปเรื่อยๆ ตามบริเวณมือ แขน ขาหรือเท้าข้างหนึ่งข้างใดก่อน จากนั้นจะค่อยๆ มีอาการที่เป็นหนักมากขึ้นจนกระทั่งลามไปยัง 2 ข้าง ร่วมกับมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งหรือกล้ามเนื้อกระตุก ต่อมาก็จะมีพูดลำบาก กลืนลำบาก ตามมาด้วยอาการหายใจติดขัดและหอบเหนื่อยซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจมีความอ่อนแรงลงไป จนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิต ส่วนใหญ่แล้วร้อยละ 75 จะพบว่ามีอาการเริ่มแรกที่แขน ขาข้างใดข้างหนึ่งก่อน ร้อยละ 25 ผู้ป่วยจะแสดงอาการครั้งแรกด้วยการกลืนหรือพูดลำบาก สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงนั้น ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด หากแต่พบว่าในปริมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยมักเกิดจากพันธุกรรม และโรคดังกล่าวยังพบมากในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงอายุ 40-60 ปีนั่นเอง 

วิธีสังเกตอาการโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะมีอาการอ่อนแรงในส่วนของกล้ามเนื้อแขน ขา กลืนลำบาก พูดลำบาก เสียงเปลี่ยน ร่วมกับมีอาการกล้ามเนื้อลีบและกล้ามเนื้อเต้นกระตุกเกิดขึ้น ซึ่งอาการจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หากผู้ป่วยสังเกตพบว่าตนเองมีอาการดังกล่าวก็ไม่ควรนิ่งนอนใจอย่างเด็ดขาด ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป สำหรับแพทย์อายุรกรรมสาขาประสาทวิทยาที่มากด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ก็จะทำการซักประวัติผู้ป่วย ตรวจร่างกายและตรวจกับทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ด้วยการตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อผ่านคลื่นไฟฟ้า 

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงนั้นจะเป็นการรักษาในรูปแบบประคับประคอง ส่วนยาที่มีการยอมรับในวงการแพทย์ปัจจุบันก็จะช่วยชะลอการดำเนินของโรคได้ โดยมีเพียงยา Riluzole ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งสารกลูตาเมต โดยเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งซึ่งหากมีมากจนเกินไปก็จะทำให้เซลล์เกิดการตายลงได้ นอกจากการรักษาด้วยการใช้ยาแล้ว การให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ผู้ป่วยมีแรงใจ ไม่ท้อแท้สิ้นหวัง และยังเป็นการส่งเสริมผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ การให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกายอยู่เสมอ ทำกิจกรรมร่วมกับการทำกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อในส่วนที่มีอาการอ่อนแรงก็จะช่วยป้องกันการลีบเล็ก อันเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งานนานๆ รวมถึงยังช่วยป้องกันการติดขัดของข้อได้เป็นอย่างดีอีกด้วย และผู้ป่วยจะต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์พร้อมกับพักผ่อนอย่างเพียงพอร่วมด้วยจะดีที่สุด 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีปัญหาในการนอน โดยนอนราบไม่ได้หรือมีอาการเหนื่อยซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อกระบังลมมีปัญหาอ่อนแรง การใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดแบบที่ไม่ใส่ท่อช่วยหายใจที่บ้านก็จะทำให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อนได้อย่างไม่มีอาการเหนื่อย และยังส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นได้ด้วย

จะเห็นได้ว่าโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอีกโรคหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวคนเราอย่างมาก แม้ดูเหมือนว่าจะไม่ร้ายแรงแต่อย่างใด แต่หากนิ่งนอนใจปล่อยให้เกิดอาการลุกลามอย่างหนักก็อาจพลาดเสี่ยงเสียชีวิตโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น ควรหมั่นเฝ้าสังเกตอาการที่ผิดปกติดังกล่าวแล้วมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาโดยเร็วจะดีที่สุด